ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: จอตาลอก (Retinal detachment)  (อ่าน 4 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 598
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: จอตาลอก (Retinal detachment)
« เมื่อ: วันที่ 6 พฤศจิกายน 2024, 23:40:52 น. »
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: จอตาลอก (Retinal detachment)

จอตา (retina)* อาจเกิดการฉีกและหลุดลอกออกจากผนังลูกตาชั้นกลางหรือเนื้อเยื่อคอรอยด์ (choroid) ที่อยู่ข้างใต้ซึ่งมีหลอดเลือดส่งสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงจอตา เมื่อหลุดลอกเซลล์ประสาทจอตาก็จะขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้เกิดอาการตามัวมองไม่เห็นได้

จอตาลอกถือเป็นภาวะฉุกเฉิน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจทำให้สายตาพิการอย่างถาวรได้

โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมตามอายุ ซึ่งพบบ่อยในคนอายุมากกว่า 50 ปี และอาจมีประวัติว่าเคยเป็นโรคนี้มาก่อน หรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย

* จอตา (retina) หรือจอประสาทตา เป็นผนังชั้นในสุดที่บุอยู่ภายในลูกตาด้านหลัง มีลักษณะเป็นเยื่อบางใส ประกอบด้วยเซลล์ประสาทจำนวนมาก ทำหน้าที่รับภาพ (แสงและสี) ที่ผ่านกระจกตาและแก้วตาลงมาตกกระทบที่จอตา แล้วส่งสัญญาณภาพผ่านเส้นประสาทตา (optic nerve) ไปที่สมอง

จอตาส่วนที่อยู่ตรงกลาง (central portion) จะมีเซลล์ประสาทรับรู้ทั้งแสงและสี ซึ่งเป็นเซลล์รูปกรวย (cones) อยู่อย่างหนาแน่น เป็นจุดที่เห็นภาพได้คมชัดที่สุด เรียกว่า จุดภาพชัด (macula) ซึ่งจะทำหน้าที่ในช่วงที่มีแสงมาก และการมองเห็นสี ถ้าจอตาส่วนนี้ผิดปกติจะทำให้สายตา (การเห็น) ไม่ชัด และความสามารถในการมองเห็นสีลดลง

ส่วนจอตาที่อยู่รอบนอก (peripheral portion) ของจุดภาพชัด ประกอบด้วยเซลล์ประสาทรับรู้แสง ซึ่งเป็นเซลล์รูปแท่ง (rods) ทำหน้าที่ในช่วงที่มีแสงน้อย ถ้าจอตาส่วนนี้ผิดปกติจะทำให้การมองเห็นภาพตอนกลางคืนหรือในที่สลัวลดลง และการมองเห็นภาพบริเวณรอบ ๆ ลดลง

จอตาจะมีเลือดมาเลี้ยง ซึ่งมาจากหลอดเลือดที่อยู่ในผนังลูกตาชั้นกลาง หรือเนื้อเยื่อคอรอยด์ (choroid) ซึ่งอยู่ใต้ชั้นจอตา

สาเหตุ

อาจเกิดจากจอตามีรอยฉีกหรือเป็นรู ปล่อยให้ของเหลวของน้ำวุ้นลูกตาแทรกซึมเข้าไปเซาะให้จอตาลอก หรือจอตาส่วนที่ยึดติดแน่นกับส่วนผิวของน้ำวุ้นลูกตาถูกแรงดึงรั้งจากน้ำวุ้นลูกตา ทำให้จอตาหลุดลอกจากผนังลูกตา หรือมีสิ่งซึมเยิ้ม (exudation) สะสมอยู่ใต้ชั้นจอตา

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากน้ำวุ้นลูกตาด้านหลังที่เสื่อมตามอายุ มีการหดตัวและลอกออกจากจอตา (posterior vitreous detachment)* เกิดแรงดึงรั้งต่อจอตา

นอกจากนี้ยังอาจพบได้บ่อยในผู้ที่มีสายตาสั้นชนิดรุนแรง เป็นเบาหวานที่มีโรคของจอตาแทรกซ้อน การได้รับบาดเจ็บที่ลูกตา การผ่าตัดต้อกระจกหรือภายในลูกตา การติดเชื้อหรือการอักเสบภายในลูกตา เนื้องอกหรือมะเร็งที่เกิดภายในลูกตาหรือแพร่กระจายจากที่อื่น

*พบบ่อยในคนอายุมากกว่า 70 ปี พบน้อยในคนอายุต่ำกว่า 50 ปี จะมีอาการมองเห็นเงาหยากไย่ ยุง หรือแมลงวัน ร่วมกับเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ (อ่านเพิ่มเติมที่หัวข้อ "อาการเห็นเงาหยากไย่ (floaters)" ด้านล่าง)

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการมองเห็นผิดปกติ โดยไม่มีอาการปวดตา

ระยะแรกเริ่มจะมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ หรือแสงแฟลชถ่ายรูปในตาข้างหนึ่งหรือ 2 ข้าง ขณะหลับตาหรืออยู่ในที่มืด (ซึ่งมักเกิดจากจอตาถูกกระตุ้นจากแรงดึงรั้งของน้ำวุ้นลูกตา) และมีอาการเห็นเงาหยากไย่ ยุง หรือแมลงวันลอยไปมาที่เกิดขึ้นฉับพลันและมีจำนวนมาก และมีอาการตามัว (อาจเห็นคล้ายมีหมอกบัง/เห็นเงาคล้ายม่าน/เห็นภาพเป็นคลื่น ๆ หรือคดงอ) ร่วมด้วย

หากไม่ได้รับการรักษา และปล่อยให้เป็นอยู่นาน ๆ ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกว่าเห็นเงาอยู่ที่ขอบของลานสายตา ซึ่งจะขยายใหญ่ขึ้นจนเต็มลานสายตาภายในไม่กี่วัน

อาการเห็นเงาหยากไย่ (floaters)

เป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อย่างเข้าสู่วัยกลางคน จะมองเห็นเงาคล้ายหยากไย่ ยุง หรือแมลงวัน ลอยไปมาอยู่ในลูกตาข้างเดียวหรือ 2 ข้าง เห็นชัดในที่สว่าง โดยเฉพาะเวลาแหงนมองท้องฟ้าใส มองไปที่ผนังสีขาว หรือก้มลง (เช่น ขณะดื่มน้ำ) ทำให้นึกว่ามีหยากไย่อยู่ที่ข้างนอกลูกตา และพยายามขยี้ตาแต่เงาก็ไม่หาย สร้างความรำคาญ นาน ๆ เข้าก็รู้สึกเคยชิน

ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำวุ้นลูกตาเสื่อม (vitreous degeneration) และหดตัวเล็กลง ทำให้สารโปรตีนในน้ำวุ้นหนาตัวกลายเป็นเศษเส้นใยลอยอยู่ในน้ำวุ้นลูกตา บังแสงที่ผ่านมาที่จอตา ทำให้เห็นเงาของเศษเส้นใยคล้ายเงาหยากไย่ลอยไปลอยมา ภาวะนี้มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี และไม่มีอันตราย นอกจากสร้างความรำคาญ ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใด ๆ บางคนอาจค่อย ๆ จางหายไปได้อย่างช้า ๆ

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากสาเหตุที่อาจมีอันตรายร้ายแรง ได้แก่

    น้ำวุ้นลูกตาด้านหลังลอก (posterior vitreous detachment/PVD) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบในผู้ที่มีน้ำวุ้นลูกตาด้านหลังเสื่อม บางรายเนื่องจากน้ำวุ้นมีการหดตัวและมีความเข้มข้นมากกว่าเดิม ทำให้น้ำวุ้นลูกตาหลุดลอกจากจอตา ถ้ามีการดึงรั้งจอตา ก็มักจะกระตุ้นให้เกิดอาการเห็นแสงวาบคล้ายแสงฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูป ร่วมกับอาการมองเห็นเงาหยากไย่
    เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา (vitreous hemorrhage) ซึ่งเกิดจากจอตาเสื่อมจากเบาหวาน (diabetic retinopathy) จอตาฉีก (retinal tear) จุดภาพชัดเสื่อมตามอายุ (age-related macula degeneration) ภาวะเลือดออกง่าย หลอดเลือดดำจอตาอุดตัน การได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยจะมีอาการตามืดมัวลงอย่างฉับพลัน ร่วมกับเห็นเงาหยากไย่ ซึ่งจะมีอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ บางรายอาจเห็นสีแดง (สีเลือด) บังอยู่ในตา หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
    จอตาฉีก (retinal tear)/จอตาลอก (retinal detachment) ทำให้มองเห็นเงาหยากไย่ที่เกิดขึ้นฉับพลันและมีจำนวนมาก ร่วมกับการมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบและตามัว
    ผนังลูกตาชั้นกลางด้านหลังอักเสบ (posterior uveitis) อาจเกิดจากการติดเชื้อ (เช่น เอดส์) หรือปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง มักมองเห็นเงาหยากไย่จำนวนมากร่วมกับตามัว

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการเห็นเงาหยากไย่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเงาที่เกิดขึ้นใหม่ เกิดขึ้นฉับพลัน เห็นเงาจำนวนมาก หรือมีอาการเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ หรือตามัวร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อตรวจหาสาเหตุ ในรายที่ไม่พบความผิดปกติร้ายแรง ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาแต่อย่างใด แต่ควรติดตามตรวจกับแพทย์เป็นระยะ


ภาวะแทรกซ้อน

หากปล่อยไว้ไม่รักษา มักจะทำให้สายตาเสื่อมลงหรือพิการอย่างถาวร

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจวัดสายตามักพบว่าผิดปกติ

บางรายอาจพบสายตาสั้น หรือเป็นเบาหวาน

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจวัดสายตา ตรวจลานสายตา ความดันลูกตา ใช้เครื่องมือส่องตรวจจอตา บางครั้งอาจต้องทำการตรวจจอตาด้วยอัลตราซาวนด์


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

ในรายที่เป็นเพียงจอตาฉีกหรือเป็นรูมักจะรักษาด้วยแสงเลเซอร์ (laser surgery) ทำการปิดรูที่ฉีก หรือใช้วิธีจี้ด้วยความเย็น (freezing therapy หรือ cryopexy) บริเวณรอบ ๆ รูหรือรอยฉีก เพื่อช่วยยึดจอตากลับเข้าที่

ในรายที่มีจอตาลอกจำเป็นต้องทำการผ่าตัดแก้ไข

ผลการรักษา ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่มีเพียงภาวะจอตาฉีกหรือเป็นรู หรือจอตาลอกระยะแรกเริ่ม มักจะช่วยให้สายตาฟื้นตัวได้ดี แต่ถ้ารักษาในระยะที่จอตาลอกมากแล้ว หรือมีเลือดออก หรือเป็นแผลเป็นแล้วก็ไม่ช่วยให้สายตาดีขึ้น

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการตามัว เห็นคล้ายมีหมอกบัง/เงาคล้ายม่าน/เห็นภาพเป็นคลื่น ๆ หรือคดงอมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ หรือแสงแฟลชถ่ายรูปขณะหลับตาหรืออยู่ในที่มืด เห็นเงาหยากไย่ ยุง หรือแมลงวันลอยไปมาที่เกิดขึ้นฉับพลันและมีจำนวนมาก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นจอตาลอก ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา 
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลดี เนื่องจากอาจเกิดจากสาเหตุได้หลายอย่าง

อาจป้องกันในรายที่มีสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น

    ถ้าเป็นเบาหวานควรควบคุมโรคให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ป้องกันอย่าให้มีโรคของจอตาแทรกซ้อน
    ป้องกันไม่ให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บรุนแรง โดยการใส่อุปกรณ์ป้องกันตาเวลาทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บต่อดวงตา

ข้อแนะนำ

ผู้ที่มีอาการมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูปเวลาหลับตาหรืออยู่ในที่มืด (ไม่ว่าจะมีอาการมองเห็นเงาหยากไย่หรือตามัวร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม) อาจเป็นอาการเตือนก่อนที่จะเกิดภาวะจอตาลอก ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว การได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้สายตาพิการได้