กุมภาพันธ์ถือได้ว่าเป็นเดือนซึ่งมีความพิเศษและโรแมนติกที่สุดในรอบปี ด้วยถูกยกให้เป็นเดือนแห่งความรัก อันเนื่องมาจากวันวาเลนไทน์ ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ดังนั้น ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความรัก และเมื่อนึกถึงถึงสัญลักษณ์อันมีความหมายที่สื่อถึงความรักแล้วล่ะก็ ดอกกุหลาบ คือคำตอบอันเป็นสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับอย่างไม่มีข้อสงสัย
อย่างไรก็ตาม ดอกกุหลาบ ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาส์นแสดงความรักเท่านั้น หากแต่ยังเคยถูกใช้ในหลากหลายวัตถุประสงค์ อาทิ สัญลักษณ์แห่งความลับ สัญลักษณ์ทางศาสนา หรือแม้กระทั่งปรากฎอยู่ในวรรณกรรม เป็นต้น
มนุษย์เรานั้นรู้จักและคุ้นเคยกับดอกกุหลาบมาหลายพันปี โดยมีเรื่องเล่าว่าพระนางคลีโอพัตรา ราชินีผู้เลอโฉมแห่งอียิปต์ได้สั่งให้นำดอกกุหลาบจำนวนมากตกแต่งและโปรยให้ทั่วห้อง เพื่อเป็นการต้อนรับมาร์ค แอนโทนี แม่ทัพคนสำคัญแห่งจักรวรรดิโรมันผู้ซึ่งเป็นคนรักของนาง และด้วยความสวยงามและกลิ่นหอมรัญจวนชวนให้หลงใหลนี้ มันจึงถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เปรียบเทียบกับความงามของผู้หญิงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าสตรีคนแรกที่ได้รับสมญาว่างามดั่งดอกกุหลาบก็คือพระนางคลีโอพัตรานั่นเอง
สำหรับที่มาของดอกกุหลาบในฐานะตัวแทนของความรักนั้น เริ่มขึ้นในสมัยกรีกโบราณ พวกเขาเชื่อว่าดอกกุหลาบมีความเกี่ยวข้องกับเทพีอโฟรไดท์ (Aphrodite) เทพีแห่งความงามและความรัก มีตำนานมากมายที่เล่าถึงต้นกำเนิดของดอกกุหลาบ โดยหนึ่งในบรรดาตำนานเหล่านั้นกล่าวว่าดอกกุหลาบเกิดจากโลหิตของบุรุษหนุ่มรูปงามซึ่งเป็นคนรักของเทพีอโฟรไดท์ เขาถูกลอบทำร้ายจนเสียชีวิตด้วยเหตุจากความริษยาที่ได้ครอบครองหัวใจของเทพีอโฟรไดท์ และเมื่อโลหิตของเขาไหลลงสัมผัสพื้นดิน พลันปรากฎเป็นดอกไม้สีแดงส่งกลิ่นหอมซึ่งก็คือดอกกุหลาบ จึงเชื่อกันว่าดอกไม้ชนิดนี้คือข้อความที่ส่งถึงเทพีอโฟรไดท์ว่าความรักของเขาจะยังคงเบ่งบานชั่วกาลนาน
ขณะที่ชาวโรมันโบราณนำดอกกุหลาบมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของความลับ กล่าวคือ หากมีการนำดอกกุหลาบแขวนไว้ที่หน้าประตูห้อง หรือวางไว้บนโต๊ะที่มีการประชุมหารือ จะเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ร่วมการประชุมว่าสิ่งที่ได้พูดคุยกันในที่ประชุมนั้นจะต้องเป็นความลับที่ไม่อาจเล็ดลอดออกไปให้คนนอกล่วงรู้
ดอกกุหลาบยังมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาอีกด้วย ในศาสนาอิสลามดอกกุหลาบคือสัญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณ ด้านศาสนาคริสต์เชื่อว่าดอกกุหลาบคือดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของพระแม่มารี (Virgin Mary) พระมารดาแห่งพระเยซู นอกจากนี้ ดอกกุหลาบยังปรากฎอยู่ในศาสนสถานของชาวคาทอลิกโดยเฉพาะสถาปัตยกรรมแบบกอทิก ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “หน้าต่างกุหลาบ” (Rose Window) หมายถึง หน้าต่างกลมซึ่งประดับด้วยกระจกสีสันสวยงามเป็นรูปพระคริสต์ เทวดา นักบุญต่างๆ รวมไปถึงสัญลักษณ์จักรราศี เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทยนั้น แม้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าดอกกุหลาบเข้ามายังประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใด หากแต่มีหลักฐานปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการมีอยู่มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยจากบันทึกของ ซีมง เดอ ลาร์ ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชระบุว่าพบเห็นดอกกุหลาบในกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ ดอกกุหลาบ ยังปรากฎอยู่ในงานวรรณกรรมของไทย ตัวอย่างเช่น กาพท์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (หรือเจ้าฟ้ากุ้ง) และพระราชนิพนธ์เรื่องมัทนะพาธา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ซึ่งล้วนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักทั้งสิ้น
กุหลาบอบแห้ง: ความลับของดอกกุหลาบ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://www.onearoon.com/