อาการของโรค: ประจำเดือนไม่มา/ประจำเดือนขาด (Amenorrhea)ประจำเดือนไม่มา หรือประจำเดือนขาด เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้หญิงทั่วไป
ปกติผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนมาครั้งแรกระหว่างอายุ 11-14 ปี ถ้าเลยช่วงอายุนี้ไปแล้ว ยังไม่มีประจำเดือนมา ก็ถือว่าผิดปกติ ในที่นี้ขอเรียกว่า ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา (primary amenorrhea)
ผู้หญิงบางคนเคยมีประจำเดือนมาเป็นประจำ แล้วอยู่ ๆ ก็ไม่มาหรือขาดหายไป ด้วยสาเหตุต่าง ๆ ในที่นี้ขอเรียกว่า ภาวะประจำเดือนขาด (secondary amenorrhea) ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยกว่าภาวะประจำเดือนไม่เคยมา
สาเหตุ
ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา อาจมีสาเหตุเกี่ยวกับความผิดปกติของรังไข่หรือฮอร์โมนในร่างกาย หรืออาจมีความผิดปกติทางโครงสร้าง (กายวิภาค) ของมดลูก หรือช่องคลอด เช่น เยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิด ไม่มีมดลูก รังไข่ หรือช่องคลอดมาแต่กำเนิด เป็นต้น
แต่ส่วนมากจะมีสาเหตุจากการเจริญเติบโตเป็นสาว (แตกเนื้อสาว) ช้าโดยธรรมชาติ โดยไม่มีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น และมักจะมีประจำเดือนมาก่อนอายุครบ 16 ปี ถ้าเลยจากนี้ไปแล้วก็น่าจะมีสาเหตุที่ผิดปกติต่าง ๆ
ภาวะประจำเดือนขาด ที่พบได้บ่อย ก็คือ การตั้งครรภ์ การฉีดยาคุมกำเนิด หลังคลอดบุตร หรือให้นมบุตร ความเครียดทางจิตใจ เป็นต้น ส่วนน้อยอาจมีสาเหตุจากกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง เนื้องอกของต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไตหรือรังไข่ การผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่ทั้ง 2 ข้าง โรคชีแฮน โรคคุชชิง ตับแข็ง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ภาวะไตวายเรื้อรัง ภาวะโลหิตจาง รูปร่างผอมหรืออ้วนไป ร่างกายอ่อนแอจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น
สาเหตุดังกล่าวได้สรุปไว้ใน ตรวจอาการประจำเดือนขาด/ไม่มา
อาการ
ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา บิดามารดาหรือตัวผู้ป่วยเอง สังเกตว่าประจำเดือนครั้งแรกยังไม่มา ทั้ง ๆ ที่เลยอายุควรจะมีประจำเดือน (อายุเลย 14 ปี)
โดยทั่วไปมักจะไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ นอกจากมีสาเหตุจากความผิดปกติเกี่ยวกับรังไข่หรือฮอร์โมนก็อาจไม่มีการเจริญเติบโตทางเพศ เช่น หน้าอกแฟบเหมือนผู้ชาย ไม่มีขนรักแร้ หรือขนที่อวัยวะเพศ เป็นต้น
ในรายที่เกิดจากเยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิด (imperforate hymen) ผู้ป่วยมักมีเลือดประจำเดือนออกทุกเดือน แต่จะคั่งอยู่ในช่องคลอดเพราะเยื่อพรหมจรรย์ปิดกั้นไว้ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดท้องเป็นประจำทุกเดือน และอาจตรวจพบเยื่อพรหมจรรย์โป่งพองขึ้น เนื่องจากมีก้อนเลือดที่คั่งในช่องคลอดคอยดันเยื่อนี้ให้โป่งออก
ภาวะประจำเดือนขาด ผู้ป่วยซึ่งปกติเคยมีประจำเดือนมาเป็นประจำทุกเดือน อยู่ ๆ ก็ไม่มีประจำเดือนมา ส่วนมากจะไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ นอกจากในรายที่เกิดจากการตั้งครรภ์ อาจมีอาการแพ้ท้อง
ในรายที่เกิดจากเนื้องอกของรังไข่ ต่อมหมวกไต หรือต่อมใต้สมอง อาจมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง ตามืดมัวลงเรื่อย ๆ มีหนวดและขนขึ้นผิดธรรมชาติ น้ำนมออกผิดธรรมชาติ เป็นต้น
ในรายที่เป็นโรคชีแฮน ก็อาจมีอาการอ่อนเพลีย เฉื่อยเนือย เต้านมแฟบ ขนรักแร้และขนที่อวัยวะเพศร่วง
ในรายที่เกิดจากโรคกังวลหรือซึมเศร้า ก็มักมีความวิตกกังวล นอนไม่หลับ เบื่อหน่าย ท้อแท้สิ้นหวัง
นอกจากนี้ อาจมีอาการแสดงต่าง ๆ ตามสาเหตุที่พบ เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง โรคคุชชิง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ไตวายเรื้อรัง ซีด เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อน
ขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มาหรือขาดประจำเดือน เช่น การตั้งครรภ์ กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง โรคคุชชิง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ไตวายเรื้อรัง ภาวะซีด เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากอาการ และตรวจหาสาเหตุโดยการตรวจภายในช่องคลอด ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ และอาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา ถ้ามีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย แพทย์จะตรวจหาสาเหตุ แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
ในรายที่เกิดจากเยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิด อาจต้องผ่าตัดเปิดให้มีทางระบายของเลือดประจำเดือน
ในรายที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตตามปกติ (เช่น มีการเจริญของเต้านม มีขนรักแร้ และขนอวัยวะเพศขึ้นตามปกติ) และไม่มีอาการปวดท้อง หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ อาจรอดูจนอายุเกิน 16 ปี ถ้ายังไม่มีประจำเดือนมา แพทย์ก็จะทำการตรวจหาสาเหตุ แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
2. ภาวะประจำเดือนขาด ถ้ามีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือสงสัยว่ามีสาเหตุที่ร้ายแรง แพทย์ก็จะทำการตรวจหาสาเหตุ แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
ถ้าเกิดจากการตั้งครรภ์ หรือโรคกังวลใจ ก็ให้การรักษาตามสาเหตุ
ในรายที่ไม่มีสาเหตุแน่ชัด และร่างกายเป็นปกติดีทุกอย่าง อาจรอดูสัก 3 เดือน ถ้ายังไม่มีประจำเดือนมา แพทย์ก็จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม
การดูแลตนเอง
ถ้าอายุเกิน 16 ปี แล้วประจำเดือนยังไม่มา หรือเคยมีประจำเดือน แต่ประจำเดือนขาดหายไป หรือสงสัยมีความผิดปกติเกี่ยวกับประจำเดือน ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่ามีความผิดปกติของประจำเดือน ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
ในรายที่จำเป็นต้องกินยาต่อเนื่อง มีการขาดยา ยาหายหรือกินยาไม่ได้
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
ขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มาหรือขาดประจำเดือน เช่น การตั้งครรภ์ กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง โรคคุชชิง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ไตวายเรื้อรัง ภาวะซีด เป็นต้น
ข้อแนะนำ
อาการประจำเดือนไม่มาหรือขาดประจำเดือนอาจเกิดจากสาเหตุได้หลากหลาย หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับประจำเดือน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุที่พบ (ตรวจอาการประจำเดือนขาด/ไม่มา)