ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids)  (อ่าน 20 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 621
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids)
« เมื่อ: วันที่ 24 ตุลาคม 2024, 16:17:41 น. »
หมอประจำบ้าน: ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids)

ริดสีดวงทวาร เป็นภาวะที่หลอดเลือดดำที่มีอยู่ตามธรรมชาติของคนทั่วไปในบริเวณปลายลำไส้ใหญ่ (ไส้ตรง) และทวารหนักเกิดการบวม และโป่งพอง เป็นก้อน เรียกว่า "หัวริดสีดวง" แล้วมีการปริแตกของผนังหลอดเลือดขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ ทำให้มีเลือดออกเป็นครั้งคราว

ริดสีดวงทวารมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

1. ริดสีดวงภายนอก (external hemorrhoid) เกิดขึ้นตรงปากทวารหนัก จากที่หลอดเลือดใต้ผิวหนังเกิดการโป่งพอง ซึ่งมองเห็นจากภายนอกและสามารถคลำได้

2. ริดสีดวงภายใน (internal hemorrhoid) เกิดตรงบริเวณที่อยู่ลึกขึ้นไปในทวารหนัก จากที่หลอดเลือดบริเวณนั้นเกิดการโป่งพอง ซึ่งมักมองไม่เห็นจากภายนอกและคลำไม่ได้ จะตรวจพบเมื่อใช้กล้องส่องตรวจ หรือพบในระยะที่มีหัวริดสีดวงยื่นออกมานอกทวารหนัก

ริดสีดวงภายในแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่

    ระยะที่ 1 หัวริดสีดวงหลบอยู่ภายใน ไม่ยื่นออกมานอกทวารหนัก อาจมีเพียงอาการเลือดออกสด ๆ ขณะถ่ายอุจจาระ
    ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงยื่นออกมานอกทวารหนักขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ และเลื่อนกลับเข้าไปได้เองเมื่อหยุดเบ่งถ่าย หรือหลังถ่ายอุจจาระเสร็จ
    ระยะที่ 3 หัวริดสีดวงยื่นออกมานอกทวารหนักขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ และไม่เลื่อนกลับเข้าไปได้เองหลังถ่ายอุจจาระ ต้องใช้มือดันกลับเข้าไป
    ระยะที่ 4 หัวริดสีดวงยื่นย้อยออกมานอกทวารหนักตลอดเวลา ไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ และอาจรู้สึกปวด

ริดสีดวงทวาร อาจพบเป็นเพียงหัวเดียวหรือหลายหัวก็ได้ และอาจเป็นริดสีดวงทวารภายนอกร่วมกับริดสีดวงทวารภายในก็ได้

โรคนี้พบได้บ่อยในคนทั่วไป พบเป็นสาเหตุอันดับแรก ๆ ของอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสด และเมื่อยิ่งมีอายุมากขึ้นจะยิ่งพบได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบได้บ่อยในคนอายุมากกว่า 50 ปี เนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเริ่มอ่อนแอและมีการยืดตัว

โดยทั่วไปจะไม่ค่อยมีอาการรุนแรงหรืออันตราย แต่อาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง น่ารำคาญ หรือทำให้วิตกกังวล โดยมากมักจะมีอาการเวลาท้องผูก หรือท้องเดินบ่อยครั้ง

สาเหตุ

โรคนี้เกิดจากเครือข่ายของหลอดเลือดเฮมอร์รอยด์ (hemorrhoidal plexus) ที่บริเวณผนังของไส้ตรง (rectum) ส่วนล่าง และทวารหนัก (anus) เกิดการบวมหรือโป่งพอง เนื่องจากมีภาวะความดันสูงในหลอดเลือดดำ (ของเครือข่ายหลอดเลือดดังกล่าว) จากเหตุปัจจัยต่าง ๆ อาทิ

    การเบ่งถ่ายอุจจาระหรือนั่งถ่ายอุจจาระนาน ๆ 
    อาการท้องผูก หรือท้องเดินเรื้อรัง
    การนั่งนาน ๆ หรือยกของหนัก
    การกินอาหารที่มีกากใยน้อย
    การขาดการออกกำลังกาย
    การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
    น้ำหนักมาก หรือภาวะอ้วน
    ภาวะตั้งครรภ์
    ไอเรื้อรัง

นอกจากนี้ ยังอาจพบร่วมกับโรคในช่องท้อง เช่น ตับแข็ง (ทำให้มีภาวะความดันในหลอดเลือดดำตับสูง ซึ่งส่งผลกระทบมาที่หลอดเลือดดำที่ทวารหนัก) โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease) ก้อนเนื้องอกในท้อง (เช่น เนื้องอกมดลูก เนื้องอกหรือถุงน้ำรังไข่) ท้องมาน (ภาวะท้องบวมน้ำ) มะเร็งลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น

บางคนอาจมีประวัติว่ามีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคนี้

บางคนอาจเกิดโรคนี้โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจนก็ได้

อาการ

ส่วนมากจะมีอาการเลือดออกทางทวารหนัก เป็นเลือดแดงสด เกิดขึ้นขณะเบ่งถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระ อาจสังเกตมีเลือดเปื้อนกระดาษชำระ หรือเคลือบที่ผิวอุจจาระ หรือมีเลือดไหลออกเป็นหยดลงโถส้วม เลือดที่ออกจะไม่ปะปนกับอุจจาระและไม่มีมูกร่วมด้วย แต่ละครั้งเลือดออกไม่มากและหยุดได้เอง โดยไม่มีอาการเจ็บปวด เมื่อถ่ายครั้งใหม่ก็จะมีเลือดออกได้อีก ส่วนใหญ่มักมีอาการถ่ายเป็นเลือดอยู่ 2-3 วัน แล้วหายไปเอง

สำหรับริดสีดวงทวารภายนอก อาจมีอาการระคายเคืองหรือคันรอบ ๆ ปากทวารหนัก หรืออาจคลำพบติ่งเนื้อนิ่ม ๆ ที่ขอบทวารหนัก ในรายที่มีลิ่มเลือดอุดตันแทรกซ้อนจะมีอาการปวดรุนแรง และคลำได้ก้อนแข็งที่บริเวณทวารหนัก

สำหรับริดสีดวงทวารภายใน ในระยะแรกมักตรวจไม่พบหัวริดสีดวง ต่อเมื่อเป็นระยะที่มีหัวริดสีดวงยื่นออกมานอกทวารหนัก จะพบว่ามีก้อนเนื้อนิ่ม ๆ ยื่นออกมานอกขอบทวารหนักขณะถ่ายอุจจาระ ซึ่งมักเลื่อนกลับเข้าไปได้เองเมื่อหยุดเบ่งถ่าย หรือใช้มือดันกลับเข้าไปได้ แต่ถ้ายื่นออกมานอกทวารหนักตลอดเวลา ไม่สามารถเลื่อนกลับเข้าไปได้ อาจทำให้รู้สึกปวด 

ถ้ามีเลือดออกมากหรือเรื้อรัง อาจมีอาการอ่อนเพลียและซีดได้

ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่แม้ว่าจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย แต่มักไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ในรายที่ปล่อยให้มีอาการเรื้อรัง อาจมีการเสียเลือดเรื้อรัง เกิดภาวะโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็กได้

นอกจากนี้ ในรายที่เป็นริดสีดวงภายในระยะรุนแรง หัวริดสีดวงอาจยื่นออกมาย้อยที่ปากทวารหนัก ถูกกล้ามเนื้อหูรูดบีบรัด ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยง เรียกว่า "ริดสีดวงชนิดถูกบีบรัด (strangulated hemorrhoid)" มีอาการเกิดก้อนเจ็บที่ขอบทวารหนัก ซึ่งก้อนจะโตขึ้นเร็วใน 24 ชั่วโมงแรก และรู้สึกเจ็บมากในระยะ 5-7 วันแรก มักมีน้ำเมือกและเลือดซึม และถ่ายลำบาก อาการจะค่อยทุเลา หายเป็นปกติประมาณ 2 สัปดาห์ไปแล้ว ผู้ป่วยอาจมีประวัติว่าเคยเป็นริดสีดวงมาก่อนหรือไม่ก็ได้

ส่วนโรคริดสีดวงภายนอก อาจเกิดลิ่มเลือดขึ้นในหัวริดสีดวง เรียกว่า "ริดสีดวงทวารชนิดมีลิ่มเลือดอุดตัน (thrombosed hemorrhoid)" ทำให้ริดสีดวงเกิดการอักเสบ บวม มีอาการปวดรุนแรงขณะนั่ง เดิน และถ่ายอุจจาระ และคลำได้ก้อนแข็งที่บริเวณทวารหนัก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากใน 24-48 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นลิ่มเลือดจะค่อย ๆ ถูกดูดซึมไป อาการจะค่อย ๆ ทุเลา และอาจหายเป็นปกติได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ หลังหายแล้วอาจพบเนื้อเยื่อบริเวณนั้นกลายเป็นติ่งหนัง (skin tag)   

ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนต้องรีบไปให้แพทย์รักษา

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย รวมทั้งการตรวจทวารหนัก

ในรายที่มีอาการเล็กน้อย อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นริดสีดวงทวารภายใน ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในลำไส้ใหญ่

บางรายอาจตรวจพบก้อนหรือติ่งหนัง (skin tag) ที่ขอบทวารหนัก หรือก้อนเนื้อนิ่มที่ยื่นโผล่ออกมาที่ปากทวารหนัก

หากยังวินิจฉัยได้ไม่ชัดเจน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนอายุมากกว่า 40 ปี หรือมีอาการเรื้อรัง) หรือสงสัยมีความผิดปกติอื่นในลำไส้ใหญ่หรือช่องท้อง หรือมีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ (anoscopy/proctoscopy/sigmoidoscopy/colonoscopy) ตรวจเลือด อุจจาระ ปัสสาวะ การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรืออัลตราซาวนด์ เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ในรายที่มีอาการเล็กน้อย คือมีเลือดออกเล็กน้อยขณะเบ่งถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระ ไม่มีอาการเจ็บปวด แนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตอาการ เวลาถ่ายอุจจาระพยายามไม่เบ่งแรง และไม่นั่งถ่ายนาน ๆ อย่านั่งนาน ๆ และไม่ยกของหนัก

ถ้าจำเป็นอาจให้การรักษาอาการท้องผูกหรือท้องเดินที่เป็นสาเหตุที่ทำให้อาการกำเริบ

สำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูก แนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวเพื่อให้อุจจาระนุ่มและถ่ายง่าย (ดูหัวข้อ "การดูแลตนเอง" ด้านล่าง)

2. ถ้ามีอาการปวดริดสีดวงทวารเนื่องจากมีการอักเสบ แนะนำให้ผู้ป่วยนั่งแช่ในน้ำอุ่นจัด ๆ (ขนาดร้อนพอทน หรือประมาณ 40 องศาเซลเซียส) วันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 15-20 นาที แล้วใช้ผ้านุ่ม ๆ ซับให้แห้ง

ถ้าปวดมากให้ยาแก้ปวด-พาราเซตามอล หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก) ควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดที่เข้าสารฝิ่นหรืออนุพันธ์ของฝิ่น เพราะอาจทำให้ท้องผูก นอกจากนี้อาจใช้ยาชาชนิดเจล (ที่มีตัวยา lidocaine) ทาระงับปวด

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวาร หรือยาทาที่มีตัวยาสเตียรอยด์ผสมกับยาชา (เช่น ยาที่มีชื่อการค้าว่า "Proctosedyl" "Doproct" "Scheriproct N" ชนิดเหน็บทวาร หรือชนิดขี้ผึ้ง/ครีมสำหรับใช้ทา วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น และหลังถ่ายอุจจาระ) เพื่อลดการอักเสบ บรรเทาอาการปวดและคัน (จะหยุดใช้เมื่ออาการทุเลาแล้ว จะไม่ใช้นานเกิน 1 สัปดาห์ เพราะจะทำให้ผิวบาง)

3. ถ้ามีภาวะซีดจากการเสียเลือดเรื้อรัง ให้ยาบำรุงโลหิต

4. ถ้าหัวริดสีดวงหลุดออกมาข้างนอก แพทย์จะใส่ถุงมือใช้ปลายนิ้วชุบสบู่ให้หล่อลื่น แล้วดันหัวกลับเข้าไป

5. ถ้าริดสีดวงภายนอกมีลิ่มเลือดอุดตัน มีอาการปวดรุนแรง แพทย์จะทำการกรีดเอาลิ่มเลือดออกไป ซึ่งจะช่วยให้ทุเลาปวดได้ทันที (จะได้ผลดีภายใน 72 ชั่วโมงหลังเกิดลิ่มเลือด) หลังจากนั้นแนะนำให้ผู้ป่วยแช่น้ำอุ่นจัด ๆ และใช้ยาทาหรือยาเหน็บริดสีดวงทวาร 

6. ถ้าให้การรักษาดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผล มีอาการปวดมาก หรือมีเลือดออกเรื้อรัง หรือมีหัวริดสีดวงยื่นออกมานอกทวารหนักบ่อยหรือดันกลับเข้าไปไม่ได้ แพทย์อาจทำการรักษาด้วย "หัตถการที่ไม่ใช่การผ่าตัด" วิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้

    การใช้ยางรัด (rubber band ligation) รัดรอบ ๆ หัวริดสีดวงภายใน ทำให้เลือดไปเลี้ยงไม่ได้ หัวริดสีดวงก็จะเหี่ยวแห้งและหลุดออกเองภายใน 1 สัปดาห์ วิธีนี้มีอัตราการหายขาดค่อนข้างสูง แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น อาการปวดถ่วงในทวารหนัก เลือดออก (ไม่มากและหยุดเองได้) หัวริดสีดวงอักเสบ (บวม เจ็บ) และย้อยออกมาได้ 
    การฉีดสารก่อกระด้าง (sclerotherapy) เข้าที่หัวริดสีดวง ทำให้ริดสีดวงฝ่อไป วิธีนี้ใช้ได้ผลดี เหมาะสำหรับริดสีดวงภายในระยะที่ 1 และ 2 มีความสะดวก ปลอดภัย ไม่มีความเจ็บปวด แต่มีอัตราการหายขาดน้อยกว่าการใช้ยางรัด
    การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ อินฟราเรด หรือความร้อน (laser, infrared or bipolar photocoagulation) ทำให้หัวริดสีดวงแข็งและยุบลง วิธีนี้ใช้สำหรับรักษาริดสีดวงภายในที่มีขนาดเล็กและกลาง มีผลข้างเคียงน้อย แต่มีอัตราการกำเริบใหม่มากกว่าการใช้ยางรัด

7. ถ้าเป็นมาก มีภาวะแทรกซ้อน หรือรักษาด้วยยาและหัตถการต่าง ๆ แล้วไม่ได้ผล แพทย์ก็จะรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีให้เลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้

    การผ่าตัดเอาหัวริดสีดวงออก (hemorrhoidectomy) ซึ่งเป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยเลาะเอาเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารออก วิธีนี้ให้ผลการรักษาดี มีโอกาสในการกลับมากำเริบใหม่น้อย แต่อาจมีผลข้างเคียงคือ ทำให้เกิดภาวะปัสสาวะคั่ง (ถ่ายปัสสาวะไม่ออก) และการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้
    การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือเย็บติด (stapled hemorrhoidectomy/stapled hemorrhoidopexy) เป็นการใช้เครื่องมือคล้ายเครื่องยิงลวดทำการตัด เย็บ และผูกหัวริดสีดวง ปิดกั้นเลือดที่จะไปเลี้ยงบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวาร ทำให้หัวริดสีดวงเกิดการฝ่อและหลุดไป วิธีนี้เหมาะสำหรับการรักษาริดสีดวงทวารภายในเท่านั้น วิธีนี้ทำให้เกิดการเจ็บปวดน้อยกว่า และฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม แต่มีความเสี่ยงต่อการกำเริบใหม่ และภาวะไส้ตรงยื่นย้อย (rectal prolapse) มากกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม และอาจเกิดผลแทรกซ้อน เช่น เลือดออก ปัสสาวะไม่ออก เกิดการติดเชื้อ เป็นต้น

ผลการรักษา ผู้ที่มีอาการเล็กน้อยซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ สามารถให้การรักษาตามอาการ ทำให้อาการทุเลาได้ แต่มีโอกาสกลับมากำเริบเป็นครั้งคราวเวลาท้องผูกหรือท้องเดิน

ในรายที่มีความจำเป็นต้องรักษาด้วยหัตถการที่ไม่ใช่การผ่าตัด (เช่น การใช้ยางรัด) มีโอกาสกำเริบใหม่ภายใน 5-10 ปี ถึงร้อยละ 30-50 ส่วนในรายที่รักษาด้วยการผ่าตัดมีโอกาสกำเริบใหม่น้อยกว่าร้อยละ 5

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น ถ่ายอุจจาระออกเป็นเลือดสด มีอาการคันหรือเจ็บที่ทวารหนัก มีก้อนยื่นออกมาที่ปากทวารหนักตอนถ่ายอุจจาระ หรือคลำพบก้อนที่ปากทวารหนัก ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นริดสีดวงทวาร  ควรดูแลตนเองดังนี้

    รักษาและใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์
    เวลาถ่ายอุจจาระอย่านั่งนาน และไม่เบ่งแรง (ผ่อนแรงเบ่งด้วยการอ้าปากและค่อย ๆ หายใจออกทางปาก)
    ไม่นั่งนาน ๆ และไม่ยกของหนัก
    ถ้ามีอาการท้องผูก ควรปฏิบัติดังนี้

- ดื่มน้ำมาก ๆ วันละประมาณ 8-12 แก้ว (2-3 ลิตร) 
- กินอาหารที่มีกากใยสูง (ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ธัญพืช) ให้มาก ๆ
- งดดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้ท้องผูกได้
- ออกกำลังกายเพื่อควบคุมน้ำหนัก (ภาวะน้ำหนักเกินมีผลต่อการกำเริบของโรค) และป้องกันท้องผูก
- ถ่ายอุจจาระเป็นเวลาทุกวัน และอย่าอั้นถ่ายเวลามีอาการปวดถ่ายอุจจาระ
- กินสารเพิ่มกากใย และ/หรือยาระบายตามคำแนะนำของแพทย์

    ถ้าปวดริดสีดวงทวาร นั่งแช่น้ำอุ่น ใช้ยาแก้ปวด และใช้ยาเหน็บหรือยาทาริดสีดวงทวารตามคำแนะนำของแพทย์

ควรกลับไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีเลือดออกมาก มีภาวะซีด รู้สึกอ่อนเพลียมาก หรือเวลาลุกนั่งมีอาการหน้ามืดจะเป็นลม
    มีอาการปวดริดสีดวงมาก
    หัวริดสีดวงยื่นออกมาที่ปากทวารหนัก และไม่เลื่อนกลับเข้าไปได้เอง
    น้ำหนักลด ปวดท้องบ่อย ท้องผูกเรื้อรัง ท้องเดินเรื้อรัง หรือมีอาการท้องผูกสลับท้องเดิน
    มีอาการถ่ายเป็นเลือดนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย
    มีประวัติกินยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน โคลพิโดเกรล ) หรือสารกันเลือดเป็นลิ่ม (เช่น วาร์ฟาริน)
    มีความวิตกกังวล
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปใช้ที่บ้าน ถ้าใช้ยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หน้ามืด หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

การป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ หรือช่วยป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ ควรระวังอย่าให้ท้องผูก และลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอาการ ดังนี้

    ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดน้ำหนักถ้าอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
    กินอาหารที่มีกากใยมาก (เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ธัญพืช) กรณีที่กินอาหารประเภทนี้ไม่มากพอ ให้กินสารเพิ่มกากใยเสริม 
    ดื่มน้ำมาก ๆ วันละประมาณ 8-12 แก้ว (2-3 ลิตร) 
    ออกกำลังกายเป็นประจำ 
    ถ่ายอุจจาระเป็นเวลาทุกวัน และอย่าอั้นถ่ายเวลามีอาการปวดถ่ายอุจจาระ
    เวลาถ่ายอุจจาระอย่านั่งนาน (เช่น นั่งอ่านหนังสือ เล่นโทรศัพท์มือถือ) และไม่เบ่งแรง
    หลีกเลี่ยงการนั่งนาน ๆ และไม่ยกของหนัก

ข้อแนะนำ

1. อาการถ่ายเป็นเลือดแม้ว่าส่วนใหญ่จะเกิดจากแผลปริที่ขอบทวารหนักและริดสีดวงทวาร และสามารถให้การดูแลรักษาตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ได้ แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ร้ายแรงได้ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease) ดังนั้น ถ้ามีอาการผิดแปลกไปจากอาการริดสีดวงที่เคยเป็น หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมกับอาการถ่ายเป็นเลือด (เช่น มีเลือดออกมากหรือเรื้อรัง มีอาการอ่อนเพลีย ท้องเดินเรื้อรัง หรือน้ำหนักลด) หรือพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี หรือมีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้ชัดเจน

2. ผู้ที่มีอาการถ่ายเป็นเลือดจากริดสีดวงทวาร ซึ่งมีอาการเล็กน้อย และมีอาการเป็นครั้งคราว อาจคิดว่าไม่เป็นอะไรมาก และอาจมีความอายที่จะไปพบแพทย์ จะลองรักษาตนเอง หรือปล่อยปละละเลย จะไปพบแพทย์ต่อเมื่อเกิดภาวะซีดจากการเสียเลือดเรื้อรัง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา หรือพบว่าเป็นโรคร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งมักมีความยุ่งยากในการรักษา ดังนั้นควรแนะนำให้คนทั่วไปมีความตระหนักรู้ในเรื่องอาการถ่ายเป็นเลือด และการดูแลรักษาที่ถูกต้อง

3. ผู้ที่มีประวัติกินยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน โคลพิโดเกรล) หรือสารกันเลือดเป็นลิ่ม (เช่น วาร์ฟาริน) ซึ่งใช้รักษาและป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด หากมีอาการถ่ายเป็นเลือด อาจมีเลือดออกรุนแรงได้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อปรับยาให้เหมาะสม