โรคเบาหวาน เรื่องไม่ “เบา” ที่เราควรใส่ใจ8 เรื่องน่ารู้ สำหรับคนที่เป็น “เบาหวาน”
1. การเป็นโรคเบาหวาน ไม่ได้หมายถึง “การล้มเหลวในชีวิต”
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน เกิดจากหลากหลายปัจจัย ได้แก่ กรรมพันธุ์ ปัจจัยทางด้านการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง การขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักเกินเกณฑ์ เป็นต้น และผ่านทาง 2 กลไกหลัก คือ การหลั่งฮอร์โมนอินซูลินที่ลดลงจากตับอ่อน ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ตามปกติ จึงมีน้ำตาลมากในกระแสเลือด และอีกกลไกคือ มีภาวะดื้ออินซูลิน โรคเบาหวานเป็นถึงแม้จะเป็นโรคเรื้อรัง แต่เราสามารถควบคุมดูแลระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้ดี เพื่อชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดได้ และสามารถมีชีวิตยืนยาวเทียบเท่ากับคนที่ทั่วไปไม่เป็นเบาหวาน
2. การดูแลรักษาเบาหวานให้ดีตั้งแต่ระยะเริ่มแรก มีความสำคัญมากในระยะยาว
เราอาจจะคิดว่าโรคเบาหวาน ไม่รักษาก็ไม่เป็นไร รอไปก่อนได้ แต่จริงๆแล้วโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี ส่งผลเสียต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดเสื่อมในระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็น ไตวาย จอประสาทตาเสื่อมทำให้ตาบอด ชาปลายมือปลายเท้า สูญเสียความรู้สึก มีแผลติดเชื้อหายยาก เส้นเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต ถ้าเราเริ่มรักษาเบาหวานให้ดีตั้งแต่แรก จะช่วยชะลอการเสื่อมของหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆ และลดอัตราตายจากโรคเบาหวานได้ แต่ถ้าเรารักษาช้า ปล่อยให้น้ำตาลสูงเป็นระยะเวลานานหลายๆปี แล้วมารักษาทีหลัง หลอดเลือดที่ตีบตันไปแล้วก็ไม่สามารถกลับมาได้ดีเหมือนเดิม
3. ระลึกไว้เสมอว่า โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่ระดับน้ำตาลสูงขึ้นได้เรื่อยๆ
เริ่มแรกที่เราทราบว่าตนเองเป็นเบาหวาน นั่นหมายความว่าเบต้าเซลล์ในตับอ่อนของเราหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง ทำให้สร้างอินซูลินได้ลดลง และยิ่งถ้ามีภาวะดื้ออินซูลินด้วย จะยิ่งทำให้ตัวโรครุนแรงขึ้น ช่วงแรกๆที่เป็นโรค ระดับน้ำตาลอาจจะยังไม่สูงมากนัก หลายๆคนสามารถควบคุมเบาหวานให้อยู่ในระดับที่ดีได้ด้วยการควบคุมอาหาร ลดน้ำหนัก และออกกำลังกายเท่านั้น โดยที่ไม่ต้องใช้ยาเลย แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป เบต้าเซลล์ในตับอ่อนจะค่อยๆลดลงไปตามอายุของเราที่เพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด เรามักต้องทานยาลดระดับน้ำตาลมากขึ้น เพื่อควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ในปัจจุบัน ยาลดระดับน้ำตาลมีการพัฒนาไปมาก มียาเบาหวานหลากหลายรูปแบบ ที่ออกฤทธิ์แตกต่างกัน โดยเฉพาะยารุ่นใหม่ๆ มีผลข้างเคียงน้อย เช่น ไม่ทำให้น้ำตาลต่ำ ไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่ม บางตัวสามารถชะลอการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และชะลอการเกิดโรคไตวายได้ด้วย ทำให้ผลในการรักษาในปัจจุบันค่อนข้างดีมาก เพราะฉะนั้นการที่เราระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้น ต้องทานยาเพิ่มขึ้นนั้น ไม่ได้แปลว่าเรา “ล้มเหลว” ในการรักษา แต่เป็นธรรมชาติของการดำเนินโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นกับทุกคน
4. อาหารเป็นปัจจัยสำคัญ ในการควบคุมระดับน้ำตาล
ปริมาณแป้งที่บริโภค เป็นตัวแปรหลักในการควบคุมเบาหวาน ดังนั้น การใส่ใจถึงปริมาณ สัดส่วน และคุณภาพของอาหารเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง
พยายามรับประทานอาหารประเภทแป้งที่ มี Glycemic index ต่ำ เช่น การเลือกทาน ข้าวไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีท ระดับน้ำตาลจะขึ้นน้อยกว่า ข้าวขาว ขนมปังขาว ในปริมาณที่เท่ากัน เป็นต้น
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง
ใช้กฎว่า “ครึ่งจาน” ต้องเป็นผักใบเขียว
ระมัดระวังอาหารแปรรูป เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ ขนมขบเคี้ยว
5. การออกกำลังกาย เป็นยาขนานเอก ทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
มีวิจัยรองรับชัดเจนว่า การออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 30-45 นาที ทำให้ได้อย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์ สามารถลดระดับน้ำตาล ลดภาวะดื้ออินซูลิน ลดไขมันในกระแสเลือดได้ และที่สำคัญดีต่อสุขภาพหัวใจ หากเรามีข้อจำกัดใดๆที่ทำให้ออกกำลังกายไม่ไหว เช่น อายุมาก ปวดข้อ อย่างน้อยการมีกิจกรรมระหว่างวัน เช่นการทำงานบ้าน การทำสวน การเดินขึ้นลงบันได้แทนการใช้ลิฟต์ ก็ส่งผลดีมากต่อการควบคุมเบาหวาน
6. พยายามเจาะดูระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อทราบรูปแบบน้ำตาลในแต่ละวันของตนเอง
อยากให้คิดว่าเครื่องเจาะระดับน้ำตาลเป็นเข็มทิศเปลี่ยนชีวิต ยิ่งเราเจาะหลากหลายเวลา เช่น ก่อนรับประทานอาหาร หลังรับประทานอาหาร สุ่มเวลาเช้าบ้าง เที่ยงบ้าง เย็นบ้าง จะทำให้เราเรียนรู้รูปแบบระดับน้ำตาลของตัวเราเอง ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ว่าอาหารประเภทไหนที่ทานแล้วน้ำตาลขึ้นสูง อาหารประเภทไหนทานแล้วน้ำตาลไม่ขึ้น ออกกำลังกายแบบไหน นานเท่าไหร่ แล้วน้ำตาลลงดี เราจะรู้สึกสนุกไปกับการเรียนรู้นี้ และทำให้การควบคุมเบาหวานเราดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ ที่สำคัญแพทย์สามารถนำข้อมูลน้ำตาลที่ได้นี้ไปปรับยา เพื่อให้ระดับน้ำตาลในแต่ละช่วงเวลาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีตลอดทั้งวันได้ด้วย
7. การฉีดอินซูลิน ไม่ได้แปลว่าชีวิตเรา “หมดหวัง” แล้ว
เนื่องจากธรรมชาติของโรคเบาหวาน มีการดำเนินโรคที่แย่ลงตามลำดับ จากการที่ร่างกายผลิตอินซูลินได้ลดลงเรื่อยๆอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นเบาหวานเป็นระยะเวลานานหลายสิบปี ในที่สุดเมื่อถึงจุดหนึ่งในชีวิต เราอาจต้องฉีดอินซูลินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าตัวโรคเข้าสู่จุดที่หมดทางรักษา การฉีดอินซูลินสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีมาก ดีกว่ายารับประทานด้วยซ้ำ อีกทั้งยังปลอดภัยต่อตับและไต ยาฉีดลดระดับน้ำตาลในปัจจุบันออกแบบมาในรูปแบบปากกา ฉีดง่าย ไม่ยุ่งยาก
8. เรียนรู้ให้ทันสมัย อยู่กับความเป็นจริง ไม่หลงอยู่กับความเชื่อ
เมื่อเราเป็นเบาหวานแล้ว จงเรียนรู้ให้ความรู้ทันสมัยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การรักษา ยาในปัจจุบันมีการพัฒนาก้าวไปไกลมาก มียารุ่นใหม่ผลิตออกมาแทบทุกๆปี ปรึกษาแพทย์ประจำตัวเกี่ยวกับการรักษา อยู่กับความเป็นจริง ไม่หลงเชื่อกับข้อมูลผิดๆ