สำหรับใครหลาย ๆ คนที่ต้องการที่จะทำห้องซ้อม หรืออัดเสียง, ห้องสตูดิโอ, ห้องโฮมเธียเตอร์ หรือห้องที่ต้องการการกันเสียงจากภายในออกไปรบกวนภายนอก และกันเสียงจากภายนอกไม่ให้เข้ามารบกวนภายใน คงจะเคยได้ยิน หรือรู้จักวัสดุที่เป็นวัสดุสำหรับกันเสียง เช่น แผ่นฉนวนกันเสียง และหลาย ๆ ท่านที่อาจจะเคยได้ยินแผ่นลดเสียง แต่แผ่นฉนวน กันเสียง คืออะไร? และแผ่น ซับเสียง คืออะไร? ที่สำคัญคือทั้งสองอย่างนี้มีความแตกต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร?
เสียง คืออะไร?
เสียง (Sound) คือการถ่ายทอดพลังงานในรูปแบบของคลื่น เรียกว่า “คลื่นเสียง” ซึ่งจะสามารถเคลื่อนผ่านตัวกลางได้ทุกสถานะ ไม่ว่าจะเป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ และไม่สามารถเดินทางผ่านสูญญากาศได้
โดยเสียงนั้นเกิดจากการถ่ายทอดพลังงานการสั่นสะเทือนของแหล่งกำเนิด เช่น เสียงที่ออกมาจากลำโพงที่กึ่งกลางห้อง โดยผ่านตัวกลางนั่นก็คืออากาศ จนมาเข้าหูของเรา โดยการรับรู้การสั่นสะเทือนของโมเลกุลนี้ จะมีการแปลผลออกมาในรูปแบบของเสียงต่าง ๆ ตามความถี่ของคลื่นเสียงนั้น ๆ นั่นเอง
หน่วยของเสียงมีอะไรบ้าง?
เรื่องต่อมาที่ควรจะทราบก็คือ หน่วยต่าง ๆ ที่ใช้เกี่ยวข้องกับเสียงแบบคร่าว ๆ นั้นมีอะไรบ้าง?
- วัตต์ (Watt) หรือ จูลต่อวินาที (J/s) เป็นหน่วยของ “กำลังเสียง” (Power of sound wave) หรืออัตราการถ่ายโอนพลังงานของแหล่งกำเนิดเสียงต่อหนึ่งหน่วยเวลา ซึ่งก็คือเสียงที่เราได้ยินนั่นเอง
- เดซิเบล (Decibel) เป็นหน่วยของ “ความดัง” (Volume) หรือ “ความเข้มของเสียง” (Intensity) ซึ่งมนุษย์สามารถรับเสียงได้ตั้งแต่ที่ระดับเสียง 0 จนถึงประมาณ 120 เดซิเบล หากดังเกินกว่า 120 เดซิเบล อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้รับฟังได้
- เฮิรตซ์ (Hertz) เป็นหน่วยของ “ความถี่” (Frequency) ของคลื่นเสียง เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการได้ยินของมนุษย์ โดยมนุษย์สามารถรับคลื่นเสียงที่ระดับความถี่ เริ่มที่ 20 ไปจนถึง 20,000 เฮิรตซ์
จากที่พอทราบถึงข้อมูลคร่าว ๆ ของเสียงแล้ว ก็ถึงช่วงที่เป็นไฮไลท์สำคัญของบทความ นั่นก็คือเรื่องราวของ แผ่น ซับเสียง และ แผ่นฉนวน กันเสียง
แผ่นซับเสียง คืออะไร?
แผ่นซับเสียง คือ แผ่นที่นำมาใช้สำหรับ การดูดซับเสียง (Sound Absorption) เพื่อป้องกัน การสะท้อน (Reflection) ของคลื่นเสียง อธิบายง่าย ๆ คือ เมื่อมีการเคลื่อนที่ของเสียงไปกระทบสิ่งกีดขวาง ส่งผลให้เกิดการสะท้อนกลับของเสียงจึงเกิด เสียงสะท้อน (Echo) โดยเมื่อมีเสียงมาตกกระทบที่แผ่น ซับเสียง จะมีการดูดซับเสียงมากกว่าการสะท้อนกลับออกไป นั่นก็คือการลดการก้องของเสียงภายในห้อง ยกตัวอย่างคือ เมื่อเราเข้าไปในห้องเปล่าห้องหนึ่ง ซึ่งไม่มีเฟอร์นิเจอร์ หรือวัสดุใด ๆ อยู่เลย แล้วเปล่งเสียง จะมีการสะท้อนของเสียงภายในห้องอย่างชัดเจน เสียงนั้นก็คือเสียงที่ไปกระทบกับกำแพง หรือเพดาน แล้วสะท้อนตรงกลับมาสู่หูของเรา ทำให้เราได้ยินเสียงสะท้อนนั่นเอง แต่หากภายในห้องนั้น มีสิ่งของต่าง ๆ หรือเฟอร์นิเจอร์ ก็จะช่วยเบี่ยงเบนคลื่นเสียง หรือดูดซับคลื่นเสียง จึงไม่สะท้อน ละก้องกังวานเท่ากับห้องเปล่าโล่ง ๆ นั่นเอง
แผ่นซับเสียงสามารถกันเสียงได้จริงหรือไม่?
ซึ่งแผ่น ซับเสียงนั้นเป็นตัวช่วยอย่างดีที่จะทำให้คลื่นเสียงที่กระทบกับกำแพง หรือเพดานเกิดการสะท้อนกลับมาน้อยที่สุด ทำให้ลดเสียงก้องภายในห้อง เพื่อเพิ่มความชัดเจนในการฟังเสียงต่าง ๆ แต่สิ่งที่หลาย ๆ คนเข้าใจผิดนั่นก็คือ แผ่นฉนวนซับเสียงสามารถกันเสียงได้ ซึ่งความเข้าใจตรงนี้ ไม่เป็นความจริง เนื่องจากแผ่นซับ มีคุณสมบัติเพียงแค่ช่วยในการลดการสะท้อนเพียงเท่านั้น ไม่ได้ช่วยกันการไหลผ่านของคลื่นเสียงผ่านตัวกลาง แผ่นซับจึงไม่สามารถกันเสียงได้แต่แค่สามารถลดความดังของเสียงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง
วัสดุของแผ่นซับเสียง
แผ่น ซับเสียง เป็นแผ่นที่ทำมาสำหรับซับเสียงโดยเฉพาะ ที่ขายอยู่ทั่วไปจะเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย และติดตั้งสะดวก เช่น แผ่นฟองน้ำ แผ่นโฟม PE และอะคูสติกบอร์ด (Acoustic board) ซึ่งสามารถนำไปติดโครงฝ้าเพดาน และผนังได้ ซึ่งวัสดุเหล่านี้จะช่วยในการดูดซับเสียงได้อย่างดี
auditorium acoustic boardห้องประชุมที่มีการบุแผ่นซับ หลายรูปแบบทั้งผนัง เพดาน และพื้น
แผ่นฉนวนกันเสียง หรือ แผ่นกันเสียง คืออะไร?
แผ่นกันเสียง คือ แผ่นฉนวนที่ใช้ในการกันคลื่นเสียงไม่ให้ไหลผ่าน หรือลดการส่งผ่านของคลื่นเสียงให้มากที่สุด ด้วยการลดความเร็วของคลื่นเสียงเมื่อมากระทบกับแผ่นกันเสียง เพื่อไม่ให้เสียงนั้นผ่านออกไปด้านนอกของห้อง หรือไม่ให้เสียงจากภายนอกผ่านเข้ามาภายในห้องนั่นเอง ซึ่งแผ่นฉนวนกันเสียงจะมีการติดตั้งภายในโครงสร้างของทั้งผนัง และเพดาน รวมไปถึงสามารถติดตั้งไว้ใต้พื้นได้ด้วย หากห้องที่ต้องการกันเสียงนั้นอยู่ชั้นบนของอาคารไม่ใช่ชั้นล่างสุด เพื่อกันไม่ให้เสียงผ่านออกไปสู่ชั้นล่าง หรือเสียงจากชั้นล่างมารบกวนชั้นบน
แผ่นฉนวนกันเสียงแผ่นฉนวนกันเสียง
ค่า STC กับการกันเสียง
การกันเสียงนั้นสามารถวัดค่าประสิทธิภาพของการกันเสียงได้ โดยการวัดค่าออกมาเป็นค่าที่เรียกว่า “STC” ย่อมาจาก Sound Transmission Class การวัดค่า STC นั้นวัดได้โดยการวัดจากด้านนอกของห้องที่มีแหล่งกำเนิดเสียงอยู่ภายใน แล้วตีค่าออกมา ยิ่งค่า STC สูงเท่าไหร่ก็จะยิ่งกันเสียงได้ดีมากขึ้นเท่านั้น อธิบายได้ดังนี้
STC 30 ภายนอกสามารถได้ยินเสียงพูดคุยปกติ
STC 40 กันเสียงได้ดีขึ้น พูดคุยระดับเสียงปกติได้ยินเพียงเล็กน้อย
STC 50 หากมีเสียงตะโกนจะได้ยินเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าพูดคุยกันในระดับปกติจะไม่ได้ยิน เหมาะกับการทำห้องประชุม
STC 60 ระดับนี้ไม่ได้ยินเสียงตะโกนเลย เหมาะกับห้องที่ต้องการความเงียบ เช่น โฮมเธียเตอร์ ห้องอัดเสียง หรือห้องซ้อมดนตรี
STC 70 ขึ้นไป สามารถกันเสียงที่ดังมากเป็นพิเศษ เหมาะสำหรับโรงละคร โรงภาพยนตร์ หรือสถานบันเทิงต่าง ๆ
วัสดุของแผ่นฉนวนกันเสียง
แผ่น ฉนวนกันเสียง ผลิตจากเส้นใยชนิดต่าง ๆ เช่น ใยหิน (Rockwool) และ ใยแก้ว (Fiberglass) ซึ่งเส้นใยเหล่านี้จะมีคุณสมบัติในการกันเสียง และกันความร้อนได้อย่างดี รวมไปถึงไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์อีกด้วย
แผ่นฉนวนใยหิน (Rockwool) เป็นวัสดุที่ได้มาจากธรรมชาติ คือ หินปูนและหินบาซอลท์ที่ถูกนำไปหลอมในเตาเผา มีคุณสมบัติในการกันเสียงที่ดี (สามารถกันเสียงได้ดีกว่าเดิมถึง 40%) ซึ่งนอกจากจะกันเสียงได้แล้ว ยังสามารถกันความร้อน รวมไปถึงสามารถกันไฟได้ อีกทั้งยังน้ำหนักเบา ขนย้าย และติดตั้งสะดวก ซึ่งถือว่าคุณสมบัติครบครันเหมาะสมกับการนำมาเป็นวัสดุก่อสร้างผนังห้องที่ต้องการกันเสียง
rockwool insulated panelแผ่นฉนวนใยหิน (Rockwool)
สรุปแล้วแผ่นซับเสียง และ แผ่นฉนวนกันเสียงเหมือนหรือแตกต่างกัน?
- แผ่นซับเสียง มีไว้เพื่อซับเสียง ลดการสะท้อนกลับของเสียง เพื่อลดเสียงก้องภายในห้อง
- แผ่นฉนวนกันเสียง มีไว้เพื่อกันเสียงไม่ให้ผ่านออกไปภายนอกห้อง หรือเพื่อกันเสียงจากภายนอกเข้ามารบกวนภายในห้อง
แต่หากท่านต้องการห้องที่ไว้สำหรับเก็บเสียง และควบคุมเสียงอย่างสมบูรณ์ ก็สามารถใช้วัสดุทั้งสองชนิดร่วมกันในการทำห้องได้ ซึ่งทั้งสองอย่างจะช่วยทำให้เสียงไม่ไหลผ่านออกไปด้านนอก และไม่มีเสียงจากด้านนอกเข้ามารบกวน อีกทั้งยังไม่มีเสียงก้องกังวานสะท้อนดังให้น่ารำคาญอยู่ภายในห้อง
แผ่นฉนวนกันเสียง และแผ่นฉนวนซับเสียง คืออะไร? ต่างกันยังไง? อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://noisecontrol365.com/