อาหารสุขภาพ อาหารมังสวิรัติดีต่อสุขภาพคุณจริงหรือ ?อาหารมังสวิรัติ คือ อาหารจำพวกผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชต่าง ๆ ผู้ที่ถือมังสวิรัติมักจะบริโภคแต่อาหารกลุ่มนี้ และหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ใหญ่
อย่างไรก็ดี อาหารมังสวิรัติแบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน ตามแต่ความสะดวกและความประสงค์ของผู้บริโภคจะเลือกรับประทาน เช่น
มังสวิรัติบริสุทธิ์ (Pure Vegetarian หรือ Vegan) เน้นรับประทานอาหารจำพวกพืช ผัก ผลไม้เพียงอย่างเดียว โดยงดเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสัตว์ทุกชนิด
มังสวิรัตินม (Lacto Vegetarian) เน้นรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชต่าง ๆ รวมทั้งนม ชีส และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำจากนม
มังสวิรัติไข่ (Ovo Vegetarian) เน้นรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชต่าง ๆ และไข่
มังสวิรัตินมและไข่ (Lacto-ovo Vegetarian) เน้นรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชต่าง ๆ รวมทั้งนม ชีส ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม และไข่ต่าง ๆ
มังสวิรัติปลา (Pescatarian หรือ Pesco-vegetarian) เน้นรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชต่าง ๆ รวมทั้งเนื้อปลา และอาหารทะเล
กึ่งมังสวิรัติ (Semi-vegetarians) เน้นรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชต่าง ๆ โดยไม่รับประทานเนื้อสัตว์สีแดงหรือสัตว์ใหญ่ต่าง ๆ แต่รับประทานเนื้อปลาและเนื้อไก่ รวมทั้งนม ชีส ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม และไข่ต่าง ๆ
ทำไมคนมักคิดว่าอาหารมังสวิรัติอาจดีต่อสุขภาพ ?
เนื่องจากการรับประทานอาหารมังสวิรัติจะเน้นไปที่การรับประทานพืชผักผลไม้ หรืออาหารชนิดต่าง ๆ ที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลต่ำ ผู้คนจึงเชื่อว่าอาหารมังสวิรัติน่าจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง การรับประทานมังสวิรัติจึงอาจช่วยเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ได้ จึงเป็นที่มาให้เกิดการศึกษาค้นคว้าเพื่อพิสูจน์คุณประโยชน์ของอาหารมังสวิรัติในด้านต่าง ๆ ตามมา
โดยสารอาหารที่อาจได้จากการรับประทานอาหารมังสวิรัติ ได้แก่
โปรตีน เป็นส่วนประกอบภายในเซลล์ทุกส่วนของร่างกาย โปรตีนจึงเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยในกระบวนการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย นอกเหนือจากเนื้อสัตว์ต่าง ๆ แล้ว อาหารมังสวิรัติก็มีแหล่งโปรตีนที่สำคัญ เช่น ไข่ นม ถั่ว ธัญพืชต่าง ๆ และโปรตีนจากถั่ว เป็นต้น
แคลเซียม เป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงแก่กระดูกและฟัน อีกทั้งเป็นส่วนประกอบในเลือดที่ช่วยในกระบวนการเจริญเติบโตของร่างกาย แหล่งแคลเซียมที่สำคัญจากอาหารมังสวิรัติ ได้แก่ นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมอย่างโยเกิร์ตหรือชีส พืชผักใบเขียว อย่างผักคะน้า บล็อคโคลี่ เต้าหู้ ถั่วเหลือง น้ำผลไม้ และซีเรียลต่าง ๆ หากรับประทานปลา ก็จะมีในปลากระดูกอ่อนต่าง ๆ ที่กระดูกสามารถรับประทานได้ เช่น ปลาซาร์ดีนกระป๋อง
ธาตุเหล็ก เป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือด มีส่วนช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการลำเลียงออกซิเจนไปใช้ในกระบวนการหายใจ แหล่งธาตุเหล็กที่สำคัญจากอาหารมังสวิรัติ ได้แก่ ผลไม้อบแห้ง ถั่ว ธัญพืช ซีเรียล โปรตีนเกษตร ผักที่มีใบสีเขียวเข้ม เช่น ผักคะน้า ผักกูด เป็นต้น
สังกะสี เป็นสารที่ช่วยในการสร้างเซลล์และเอนไซม์ใหม่ ช่วยในกระบวนการต่าง ๆ ของคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีนจากอาหาร และเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการสมานแผล แหล่งสังกะสีที่สำคัญจากอาหารมังสวิรัติ ได้แก่ ขนมปัง นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
วิตามินดี เป็นอีกหนึ่งสารสำคัญที่มีส่วนช่วยในการควบคุมปริมาณแคลเซียมและฟอสเฟตในร่างกาย ซึ่งช่วยรักษาความแข็งแรงของกระดูก ฟัน และกล้ามเนื้อ โดยทั่วไป ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้จากการสัมผัสกับแสงแดด แต่นอกเหนือจากนั้น เราสามารถบริโภคอาหารที่มีวิตามินดีอยู่จำนวนหนึ่งได้จากอาหารมังสวิรัติบางชนิด เช่น ไข่แดง ปลาที่มีไขมันสูงอย่างแซมอน ซาร์ดีน แมคเคอเรล และทูน่า เป็นต้น
วิตามินบี 12 เป็นวิตามินสำคัญที่ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง บำรุงรักษาระบบประสาท ดึงพลังงานจากสารอาหารออกมาใช้ และทำงานร่วมกับกรดโฟลิค ที่ช่วยในกระบวนการสร้างเซลล์ใหม่ โดยทั่วไป วิตามินบี 12 ได้จากการรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติสามารถรับวิตามินชนิดนี้ได้ในปริมาณเล็กน้อยจากแหล่งอาหารมังสวิรัติบางชนิดเท่านั้น เช่น เนื้อปลาแซมอน เนื้อปลาค็อด นม ชีส ไข่ ถั่วเหลือง และซีเรียลบางชนิด โดยผู้บริโภคควรศึกษาปริมาณวิตามินบี 12 ในอาหารมังสวิรัติที่รับประทานหรือบนฉลากผลิตภัณฑ์ของอาหารมังสวิรัติชนิดนั้น ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับวิตามินบี 12 ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ผลจากการบริโภคอาหารมังสวิรัติที่อาจมีความเกี่ยวข้องต่อสุขภาพ
กระบวนการเมตาบอลิก และการลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดหัวใจ
จากการศึกษาทดลองในกลุ่มผู้รับประทานมังสวิรัตินมชาวจีน 169 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มผู้บริโภคอาหารทั้งเนื้อและสัตว์ 126 คน พบว่า ผู้ที่รับประทานมังสวิรัตินม มีการแสดงประสิทธิผลด้านการลดระดับความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด และระดับความหนาของผนังหลอดเลือดแดงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การลดระดับลงในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ในกลุ่มผู้รับประทานมังสวิรัตินม อาจแสดงถึงผลดีต่อการป้องกันและลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้
อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองขนาดเล็ก และทำการทดลองเฉพาะในกลุ่มผู้ทดลองชายชาวจีน จึงควรมีการค้นคว้าทดลองถึงประสิทธิผลในด้านนี้ต่อไป ในกลุ่มทดลองอื่น ๆ และกระบวนการอื่น ๆ เพื่อพิสูจน์คุณประโยชน์ของการบริโภคอาหารมังสวิรัติอย่างชัดเจนต่อไปในอนาคต
ลดความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
มีการทดลองหนึ่งที่ให้ผู้ชายสุขภาพดีจำนวน 10 คน รับประทานอาหารแต่ละประเภท ได้แก่ อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ อาหารสไตล์ตะวันตก อาหารที่มีทั้งพืชและเนื้อสัตว์ และอาหารมังสวิรัตินมและไข่ แล้วตรวจวัดระดับกรดด่างจากปัสสาวะ (Acidic Urinary pH) เพื่อตรวจหาความเสี่ยงในการตกผลึกของกรดยูริกที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดนิ่วชนิดยูริก ผลการทดลองพบว่า ระดับความเสี่ยงสูงสุดในการเกิดนิ่วชนิดยูริกในระบบทางเดินปัสสาวะ คือ การบริโภคอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และอาหารตะวันตก โดยความเสี่ยงรองลงมา คือ การบริโภคอาหารที่มีทั้งพืชและเนื้อสัตว์ ในขณะที่อาหารมังสวิรัตินมและไข่มีผลลัพธ์ด้านความเสี่ยงในการเกิดนิ่วน้อยที่สุดอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองขนาดเล็ก จึงควรมีการค้นคว้าทดลองถึงประสิทธิผลในด้านนี้ต่อไป ในกลุ่มทดลองอื่น ๆ และกระบวนการอื่น ๆ เพื่อพิสูจน์คุณประโยชน์ของการบริโภคอาหารมังสวิรัติอย่างชัดเจนต่อไปในอนาคต
การทดลองหาประสิทธิภาพในการลดภาวะดื้อต่ออินซูลินจากการรับประทานอาหารมังสวิรัติในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ร่วมกับการออกกำลังกาย ด้วยการให้ผู้ป่วยในกลุ่มทดลอง 37 ราย รับประทานอาหารมังสวิรัติเป็นเวลา 24 สัปดาห์ แล้วเปรียบเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มควบคุมในจำนวนเท่ากันที่ไม่ได้รับประทานอาหารมังสวิรัติ ผลลัพธ์ คือ ผู้ป่วยจากกลุ่มทดลองที่รับประทานอาหารมังสวิรัติมีการเปลี่ยนแปลงในระดับความไวต่ออินซูลิน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่รับประทานอาหารควบคุมเบาหวานแบบทั่วไป โดยกลุ่มทดลองที่รับประทานอาหารมังสวิรัติมีการลดการใช้ยารักษาเบาหวาน มีน้ำหนักตัวลดลงมากกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีการลดระดับไขมันในช่องท้อง และอาจเกี่ยวข้องกับการลดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้อีกด้วย นอกจากนี้ การออกกำลังกายเพิ่มเติมก็มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิผลด้านต่าง ๆ ในกลุ่มทดลองที่รับประทานอาหารมังสวิรัติด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ งานการวิจัยหนึ่งที่มีผู้รับการทดลองจำนวน 11 ราย ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับกับประสิทธิผลของอาหารมังสวิรัติต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน: Non-insulin Dependent Diabetes Mellitus: NIDDM) ผลลัพธ์ที่ได้ คือ การรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำและอาหารจำพวกมังสวิรัติ อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำหนักตัวของผู้ป่วยลงได้ แม้ไม่ได้มีการออกกำลังกาย อย่างไรก็ตาม การทดลองเหล่านี้ เป็นเพียงการทดลองขนาดเล็กมากที่ทำการทดลองในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานบางประเภทเท่านั้น จึงควรมีการค้นคว้าทดลองถึงประสิทธิผลในด้านนี้ต่อไป เพื่อพิสูจน์คุณประโยชน์ของการบริโภคอาหารมังสวิรัติอย่างชัดเจนต่อไปในอนาคต
โรคโครห์น (Crohn’s Disease)
โรคโครห์น เป็นหนึ่งในโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ ซึ่งเกิดการอักเสบที่บริเวณเนื้อเยื่อผนังลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ อย่างการปวดท้อง ท้องร่วงรุนแรง เมื่อยล้าอ่อนแรง น้ำหนักลด หรือเกิดภาวะทุพโภชนาการได้
มีการทดลองหนึ่งที่ทดสอบประสิทธิผลของอาหารกึ่งมังสวิรัติในเชิงการป้องกันการป่วยซ้ำด้วยโรคโครห์น ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการกลับมาป่วยด้วยโรคนี้อีกครั้งหลังการรักษาไปแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 22 ราย โดยให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารกึ่งมังสวิรัติในระหว่างช่วงที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล และแนะนำให้ผู้ป่วยเหล่านั้นรับประทานอาหารกึ่งมังสวิรัติอย่างต่อเนื่องต่อไปโดยติดตามนาน 2 ปี ตลอดจนหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ลำไส้ใหญ่อักเสบไปด้วย ผลลัพธ์คือ อาการของโรคหายไปสูงถึง 94% ในผู้ที่รับประทานอาหารกึ่งมังสวิรัติ เมื่อเทียบกับอาการหายไปเพียง 33% ในผู้ป่วยที่บริโภคอาหารทั้งพืชและสัตว์ทั่วไป แสดงถึงประสิทธิผลของอาหารกึ่งมังสวิรัติที่อาจช่วยป้องกันการป่วยซ้ำด้วยโรคโครห์นได้
อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองขนาดเล็กที่ทำการทดลองในกลุ่มผู้ป่วยโรคโครห์นเท่านั้น จึงควรมีการค้นคว้าทดลองถึงประสิทธิผลในด้านนี้ต่อไป เพื่อพิสูจน์คุณประโยชน์ของการบริโภคอาหารมังสวิรัติอย่างชัดเจนต่อไปในอนาคต
การรับประทานอาหารมังสวิรัติทดแทนอาหารจำพวกเนื้อสัตว์
จากงานทดลองหนึ่งซึ่งทำการทดลองเกี่ยวกับอาหารที่ใช้บริโภคในระหว่างที่ควบคุมน้ำหนักตัวในกลุ่มผู้ชายที่มีภาวะอ้วนจำนวน 20 คน พบว่า การบริโภคทั้งอาหารมังสวิรัติและอาหารจำพวกเนื้อสัตว์โปรตีนสูง ช่วยลดน้ำหนักตัวของผู้เข้าร่วมการทดลองลงได้ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ผลการวัดระดับฮอร์โมนในลำไส้ของทั้ง 2 กลุ่มการบริโภคก็ออกมาคล้ายกัน ซึ่งอาจสนับสนุนข้อมูลที่ว่า การบริโภคอาหารมังสวิรัติมีประสิทธิภาพในการควบคุมความอยากอาหารเช่นเดียวกับการบริโภคอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ในระหว่างที่ต้องบริโภคอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนักและลดน้ำหนักตัว
อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวเป็นงานค้นคว้าในกลุ่มทดลองขนาดเล็ก และในปัจจุบันมีหลักฐานข้อพิสูจน์ที่ค่อนข้างจำกัดเกี่ยวกับแหล่งโปรตีนที่ควรบริโภคในระหว่างที่ลดน้ำหนัก และโปรตีนจากอาหารมังสวิรัติกับอาหารจำพวกเนื้อสัตว์อาจให้ผลลัพธ์บางประการที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบเช่นนี้ เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
การลดน้ำหนัก
งานทดลองหนึ่งที่ศึกษาประสิทธิผลในการลดน้ำหนักของอาหารมังสวิรัตินมที่มีไขมันต่ำเปรียบเทียบกับอาหารไขมันต่ำที่มีทั้งพืชและเนื้อสัตว์ซึ่งให้ผู้ทดลองเป็นผู้เลือกรับประทานด้วยตนเอง โดยกลุ่มทดลองเป็นผู้ที่มีภาวะอ้วนและน้ำหนักเกินจำนวนกว่า 176 คน ผลการทดลองพบว่า การบริโภคอาหารทั้ง 2 แบบไม่ได้มีประสิทธิผลที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด แต่พบว่าผู้รับการทดลองทั้งหมดรับประทานอาหารที่มีพลังงานรวมและไขมันรวมลดลง ในขณะที่มีพลังงานที่ถูกเผาผลาญไปเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของประสิทธิภาพในการช่วยลดน้ำหนักลงได้ของอาหารทั้ง 2 ชนิด
กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia Syndrome)
จากการทดลองหาประสิทธิผลของอาหารมังสวิรัติบริสุทธิ์ในเชิงการรักษาฟื้นฟูกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อไฟโบรมัยอัลเจีย ที่ทำการทดลองในผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการนี้กว่า 30 ราย ด้วยการให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารมังสวิรัติบริสุทธิ์ อย่างผลไม้สด สลัด น้ำแครอท พืชผลจำพวกที่มีหัวอยู่ใต้ดิน ธัญพืช ถั่ว เมล็ดพันธุ์ และน้ำข้าวจากต้นข้าวบาร์เลย์ หลังการทดลองพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกายที่ทุเลาลง ทั้งในท่าพักและหลังการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย
อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้เป็นเพียงการทดลองขนาดเล็ก และวัดผลการทดลองด้วยแบบสำรวจและการตอบคำถามเชิงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้น งานวิจัยดังกล่าวจึงไม่อาจอ้างอิงได้ถึงประสิทธิผลที่แน่ชัดของอาหารมังสวิรัติ และควรมีการค้นคว้าทดลองถึงประสิทธิผลในด้านนี้ต่อไป เพื่อพิสูจน์คุณประโยชน์ของการบริโภคอาหารมังสวิรัติอย่างชัดเจน
ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)
แม้จะมีการทดลองที่สนับสนุนว่า อาหารมังสวิรัติที่ไม่มีกลูเตนอาจมีคุณประโยชน์ต่อการป้องกันการเจ็บป่วยของหลอดเลือด และอาจมีประสิทธิผลต้านการอักเสบได้ รวมทั้งการลดระดับไขมันเลวลง และเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันบางชนิดขึ้นในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
อีกงานวิจัยหนึ่งก็ชี้ว่า ผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์อาการดีขึ้นจากการรับประทานอาหารมังสวิรัติบริสุทธิ์ อาหารมังสวิรัตินม หรืออาหารเมดิเตอร์เรเนียน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการรักษาหรือฟื้นฟูอาการป่วยของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์อย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด ทำให้ยังไม่สามารถระบุผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องในด้านนี้ได้อย่างชัดเจนในขณะนี้ จึงควรมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบผลที่แน่ชัดซึ่งเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ต่อไป
ความเสี่ยงต่อภาวะฟันผุและฟันกร่อน
จากการศึกษาและตรวจสอบสภาพฟันของผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติจำนวน 100 คน เปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับประทานอาหารมังสวิรัติอีกจำนวน 100 คน พบว่า ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติมีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุและฟันกร่อนมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับประทานอาหารมังสวิรัติอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ดี ควรมีการศึกษาทดลองในด้านนี้ต่อไป เพื่อตรวจสอบปัจจัยและหาข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารมังสวิรัติ และเพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคทั่วไป ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกบริโภคอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพแต่ละประเภทต่อไป
รับประทานอาหารมังสวิรัติอย่างไรให้สุขภาพดี ?
แม้อาหารมังสวิรัติจะเน้นการรับประทานพืช ผัก ผลไม้ และหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อการบำรุงรักษาสุขภาพ จากการได้รับแร่ธาตุและวิตามินที่สำคัญในอาหารเหล่านั้น และสารอาหารบางประเภท เช่น โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ก็สามารถทดแทนได้ด้วยโปรตีนจากพืช อย่างไรก็ตาม อาหารมังสวิรัติบางชนิด อาจอุดมไปด้วยแป้ง ไขมัน และมีแคลอรี่สูง และอาจไม่ได้มีปริมาณสารอาหารสำคัญที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ผู้บริโภคมังสวิรัติจึงควรระมัดระวังในการเลือกรับประทานอาหารแต่ละชนิดด้วย เช่น ควรศึกษาข้อมูลทางโภชนาการให้ดีก่อนเลือกบริโภคอาหารมังสวิรัติแต่ละชนิด หรือศึกษาข้อมูลทางโภชนาการและสารอาหารที่ได้จากฉลากบรรจุภัณฑ์ โดยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานหรือมีไขมันสูง เลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอ เช่น วิตามินบี 12 ที่ไม่สามารถได้จากการบริโภคพืชผักผลไม้ แต่สามารถพบได้ในปริมาณเล็กน้อยในเนื้อปลาบางชนิด ไข่ นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ดังนั้น ชาวมังสวิรัติอาจบริโภคอาหารประเภทซีเรียล หรือรับประทานยาวิตามินชนิดนี้เสริม เพื่อทดแทนสารอาหารประเภทวิตามินบี 12 สำหรับผู้รับประทานอาหารมังสวิรัตินม ควรเลือกรับประทานนมที่มีไขมันต่ำ หรือไม่มีไขมัน เป็นต้น