ปัญหาที่เกี่ยวกับเส้นผม
ปัญหารังแค
อาการของรังแคคือการเกิดขุยบนหนังศรีษะจนเกิดเป็นเกล็ดสีขาวหลุดร่วงลงมาให้เห็นตามบ่าหรือไหล่ เกิดอาการคันที่หนังศีรษะ บางครั้งหนังศีรษะก็มีอาการบวมแดง บางกรณีก็มีผมร่วงร่วมด้วย
รังแคก็คือการเกิดการอักเสบที่หนังศีรษะ ตัวที่เป็นสาเหตุจริงๆของรังแคก็คือตัวเชื้อราประจำถิ่น ของหนังศีรษะ เชื้อราประจำถิ่นนั้นหมายความว่าโดยปกติคนเรานั้นก็จะมีเชื้อราเชื้อจุลินทรีย์อยู่ตามหนังศีรษะอยู่แล้ว แต่มีปริมาณไม่มาก รังแคเกิดจากเชื้อราที่มีชื่อว่า มาลัสซีเซีย โกลโบซา (Malassezia Globosa) ซึ่งคนที่มีอาการรังแคเกิดขึ้นนั้นพบว่าจะมีเชื้อราตัวนี้มากกว่าคนปกติ 2 เท่า โดยเชื้อราตัวนี้มันจะไปกระตุ้นไปเปลี่ยนไขมันบนหนังศีรษะให้เป็นไขมันไม่อิ่มตัว ทำให้ไขมันแตกตัวได้ง่ายเกิดเป็นอาหารของจุลินทรีย์แล้วจึงทำให้เกิดการอักเสบ เมื่อเกิดการอักเสบแล้วผิวหนังชั้นหนังกำพร้าจึงหลุดร่อนออกมาเป็นรังแค อีกทั้งการอักเสบนี้ยังเป็นตัวการที่ทำให้เกิดอาการผมร่วงผมบางอีกด้วย
ปัจจัยที่ทำให้เชื้อราที่ทำให้เกิดรังแคมีเพิ่มขึ้น
ภาวะอดนอน พักผ่อนน้อย
เกิดความเครียด
โรคบางชนิดที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอภูมิคุ้มกันต่ำลง
การสระผมในเวลากลางคืน เพราะความชื้นจะทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี
ปัญหารังแคจะเป็นอาการที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญ ขาดความมั่นใจในบุคลิกภาพ รู้สึกคุณภาพชีวิตไม่ดี และส่งเสริมให้เกิดภาวะผมบางที่เกิดจากพันธุกรรมและฮอร์โมนดำเนินโรคไปได้มากขึ้น
วิธีการรักษารังแค
-ใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซลซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งและช่วยลดปริมาณของเชื้อรามาลัสซีเซีย โกลโบซา ที่ทำให้เกิดรังแค
-ใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของ ซิงค์ ไพรีไธออน (Zinc Pyrithione) ซึ่งช่วยลดปริมาณเชื้อรามาลัสซีเซีย โกลโบซา ได้เหมือนกัน
-ใช้ ทาร์ แชมพู ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณเชื้อราแล้วยังลดการอักเสบได้ด้วย
-ถ้ามีอาการมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้กลุ่มยาต้านอักเสบพวกสเตอรอยด์
ปัญหาชันนะตุหรือเชื้อราบนหนังศีรษะ
อาการจะรุนแรงกว่ารังแค เกิดขึ้นได้ง่ายในในบ้านเรา เนื่องจากภูมิอากาศที่ร้อนชื้น เกิดจากเชื้อราในกลุ่มที่เราเรียกว่าเชื้อกลาง มักจะเกิดขึ้นในเด็ก เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรีบรักษาเพราะจะทำให้เนื้อเยื่อบนหนังศีรษะเกิดเป็นแผลเป็นทำให้ผมร่วงและไม่ขึ้นอีกเลย
วิธีการรักษาชันนะตุ
ควรพบแพทย์โดยเร็วเพื่อไม่ให้อาการเป็นหนัก
ปัญหาผมหงอก
เป็นภาวะที่เซลล์สร้างเม็ดสีผมนั้นเสื่อมสภาพหรือตายลง ซึ่งโดยปกติแล้วเกณฑ์สำหรับคนเอเชียจะมีเริ่มผมหงอกอยู่ที่อายุ 25 ปีขึ้นไป ถ้ามีผมหงอกเกิดขึ้นก่อนอายุ 25 ปีถือว่าผิดปกติ
ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอาการผมหงอกคือกรรมพันธุ์ และอายุที่มากขึ้น วิธีรักษาทำได้ค่อนข้างยาก แต่ก็เชื่อว่าปัจจัยที่เร่งการเกิดผมหงอกคืออนุมูลอิสระ เช่นพวกฝุ่นควันมลภาวะ แสงแดด การสูบบุหรี่ สารเคมี อาหารที่ปนเปื้อนสารพิษ ถ้าหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆเหล่านี้ก็จะช่วย
ชะลอการเกิดผมหงอกได้
ปัจจัยในการเลือกและใช้ผลิตภัณฑ์ปิดผมขาว
มีอ.ย.รับรองว่ามีความปลอดภัย
ปฏิบัติตามฉลากที่ผลิตภัณฑ์ระบุข้างกล่อง
ไม่ควรย้อมบ่อยเกินไป
ปัญหาผมบางผมร่วง
ในคนปกติจะมีผมร่วงต่อวัน ประมาณ 100 เส้น และคนปกติไม่ควรมีผมล่วงเกิน 200 เส้นต่อวันในวันที่สระผม
สาเหตุของผมร่วงผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรมและฮอร์โมน
ฮอร์โมนเพศชาย testosterone จะถูกเปลี่ยนสภาพโดยเอนไซม์ที่เรียกว่า ไฟว์อัลฟ่ารีดักเตส (5 Alpha-Reductase) เปลี่ยนเทสโทสเตอโรนให้กลายเป็น DHT ตัวฮอร์โมน DHT นี้เองที่ออกฤทธิ์ที่รากผม ทำให้รากผมลีบเล็ก เกิดอาการผมร่วง
ในเพศชายมีผมร่วงช่วงตรงกลางศรีษะทำให้เกิดเป็นไข่ดาว หรือผมร่วงตามง่ามตีนผม
ส่วนในเพศหญิงถ้ามีอาการผมร่วงมักจะเกิดขึ้นที่แนวกลางของศีรษะ
ผมร่วงจากการกินยารักษาโรคบางชนิด
การกินยารักษาสิวที่เป็นรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะผมร่วงได้
ความเครียด
ความเครียดทำให้ฮอร์โมนและระบบต่างๆภายในร่างกายนั้นแปรปรวน อวัยวะสำคัญต่างๆทำงานได้ไม่ดี ก็จะทำให้เกิดภาวะผมร่วงได้
การขาดสารอาหารที่จำเป็น
เนื่องจากเส้นผม ผิวหนัง เล็บ เป็นอวัยวะที่มีการผลัดเปลี่ยนบ่อย ต้องการสารอาหารที่จำเป็นเพื่อนำมาสร้างใหม่
วิธีการรักษาผมร่วง ผมบาง- รักษาด้วยยาทากลุ่ม ไมนอกซิดิล (Minoxidill) จะช่วยกระตุ้นรากผมให้เกิดการงอกขึ้นใหม่ได้ แต่กลุ่มยาชนิดนี้ในผู้ป่วยบางรายก็อาจเกิดอาการแพ้ได้ อาจแพ้ตัวยาไมนอกซิดิลเอง หรือที่พบบ่อยคือแพ้ตัวทำละลายที่ชื่อว่โพรพิลีนไกลคอล ซึ่งในผู้ป่วยบางรายที่แพ้ก็จะทำให้หนังศีรษะอักเสบเป็นผื่นแดง และมีผมหลุดร่วงมากขึ้น ควรเลี่ยงไปใช้ไมนอกซิดิลที่อยู่ในตัวทำละลายอื่นแทน
- การรักษาด้วยยากินในกลุ่มฟีแนสเตอร์ไรด์ กลุ่มยาตัวนี้จะช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่เปลี่ยนฮอร์โมนเพศชายให้เป็นตัวที่ออกฤทธิ์ให้เกิดผมร่วง ก็จะทำให้ลดการหลุดร่วงของเส้นผมได้ แต่ตัวยานี้มีข้อเสียที่ร้ายแรงสำหรับผู้ชายก็คือ ทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว มีโอกาสเกิดประมาณ 2 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และข้อห้ามอีกอย่างในการกินยานี้ก็คือห้ามบริจาคเลือด เพราะหากหญิงตั้งครรภ์ได้รับเลือดที่มียาในกลุ่มฟีแนสเตอร์ไรด์ อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเด็กในครรภ์ ทั้งนี้มีการวิจัยแล้วว่าการใช้กลุ่มยาตัวนี้ในเพศหญิงที่มีปัญหาผมร่วงผมบางจากฮอร์โมนนั้นไม่ได้ผล หรือได้ผลน้อย
- การรับประทานอาหารเสริมในกลุ่ม Zinc สังกะสีเป็นอย่างธาตุอาหารอย่างหนึ่งที่จำเป็นต่อการงอกของเส้นผม
- ส่วนในเพศหญิงที่มีปัญหาผมร่วงผมบางจะใช้ยาทาเป็นหลัก จึงควรพบแพทย์แล้วให้แพทย์วินิจฉัยว่าควรใช้ยากลุ่มใดเช่นถ้ามีอาการหนังศีรษะอักเสบร่วมด้วยแพทย์ก็อาจจะจ่ายยาที่มีสเตอรอยให้
- ถ้าการรักษาในรูปแบบของการใช้ยากินและยาทาแล้วยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ก็อาจจะใช้เป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผม ซึ่งมีหลายเทคนิคคือ Follicular Unit Transplantation คือเป็นการย้ายเส้นผมมาปลูกบริเวณที่ผมหลุดร่วงทีละ 1 กอ เป็นการปลูกแบบมาตรฐาน คือตัดหนังศีรษะบางส่วนบริเวณท้ายทอยให้เป็นแผ่น แล้วมาตัดแบ่งให้เป็นแผ่นเล็กๆ แล้วเอาไปปลูกถ่ายในบริเวณที่เป็นปัญหา กับอีกแบบคือ Follicular Unit Extraction คือทำการถอนเส้นผมออกมาทีละ 1 กอ แล้วนำไปปลูกถ่ายในบริเวณที่มีปัญหา วิธีนี้จะเป็นแผลแค่จุดเล็กๆไม่เป็นแผลเย็บเหมือนวิธีแรก และในปัจจุบันนี้ก็ยังมีเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ในการปลูกผมคือการใช้หุ่นยนต์
วิธีปฏิบัติตนเมื่อมีอาการผมร่วง
-ไม่เครียด
-ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
-ออกกำลังกายเป็นประจำ ยิ่งถ้าเป็นการออกกำลังแบบคาร์ดิโอก็จะช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดียิ่งขึ้น ผิวหนังบริเวณหนังศีรษะก็จะได้รับเลือดและสารอาหารมาหล่อเลี้ยงมากขึ้น เหงื่อจะช่วยชะล้างสารพิษที่ตกค้างอยู่ตามรูขุมขน ทําให้ผมงอกใหม่ได้สะดวก
-หลีกเลี่ยงอนุมูลอิสระต่างๆเช่น แสงแดด ฝุ่นควัน สารเคมีอันตราย